แบบทดสอบก่อนเรียน

บทที่3 วงจรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า

แบบทดสอบหลังเรียน

เรื่องที่ 2 สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย และประเทศในอาเซียน

           ปัจจุบันการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก   เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง   โดยเชื้อเพลิงหลักที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า  คือ  เชื้อเพลิงฟอสซิล เริ่มลดลงเรื่อย ๆ  ดังนั้นหากผู้ใช้พลังงานไฟฟ้ายังไม่ตระหนักถึงสาเหตุดังกล่าว จนอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้ จึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงสถานการณ์พลังงานไฟฟ้า และแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในอนาคต ในเรื่องที่ 2 ประกอบด้วย 3 ตอน คือ
                    ตอนที่ 1 สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย
                    ตอนที่ 2 สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน
                    ตอนที่ 3 สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของโลก

ตอนที่ 1 สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย
                   พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 4 – 5 ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้าเป็นอันดับที่ 24ของโลก ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าพลังงานไฟฟ้าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตหรือไม่ดังนั้นความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าจึงมีประเด็นสำคัญที่ประชาชนทุกคนควรรู้ ดังนี้
                  1. สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ของประเทศไทย
การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมีการใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลาย ซึ่งได้มาจากแหล่ง
เชื้อเพลิงทั้งภายในและภายนอกประเทศ จากข้อมูลปี พ.ศ. 2558 พบว่า ประเทศไทยมีการผลิต
ไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 69.19 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด รองลงมา คือถ่านหินนำเข้าและถ่านหินในประเทศ (ลิกไนต์) ร้อยละ 18.96 พลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 11.02
น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ร้อยละ 0.75 และมีการนำเข้าไฟฟ้าจากมาเลเซีย ร้อยละ 0.07

                    2. การใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาในหนึ่งวันของประเทศไทย
การเลือกใช้เชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า นอกจากการพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าว
มาแล้วนั้น อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย คือ ประเภทของโรงไฟฟ้าที่ต้องการในระบบ
ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา เพื่อความมีประสิทธิภาพของระบบและ
ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม เพราะโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทมีความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าใน
แต่ละช่วงเวลาที่ต่างกัน และโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทก็มีการใช้เชื้อเพลิงที่แตกต่างกันด้วย 
 

                    3. สภาพปัจจุบันและแนวโน้มการใช้พลังงานไฟฟ้า
กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2558 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 38,774 เมกะวัตต์
แบ่งเป็นกำลังการผลิตภายในประเทศ 35,387 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 91.26 และกำลังผลิตที่มี
สัญญาซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 3,387 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 8.74 โดยมีความต้องการ
ไฟฟ้าสูงสุดที่ 27,346 เมกะวัตต์ ซึ่งความต้องการไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีตามสภาพภูมิอากาศ
จำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น และการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
                    4. แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan :
PDP)
                     แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า คือ แผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ว่าด้วย
การจัดหาพลังงานไฟฟ้า ในระยะยาว 15 – 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงและความเพียงพอต่อความ
ต้องการใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ
ประเทศ
                    ปัจจุบันใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2558 – 2579 (PDP 2015)ซึ่งเป็นแผนฉบับล่าสุด และเป็นแผนที่สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน ที่มีเป้าหมายเพื่อประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ซึ่งการจัดทำแผน PDP ต้องจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศ เพื่อนำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าจัดทำแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้เพียงพอในอนาคตต่อไป

ตอนที่ 2 สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน
                      อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of
Southeast Asian Nation : ASEAN) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
สังคมและวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวกันและเป็นฐานการผลิตร่วมที่มี
ศักยภาพในการแข่งขันทางการค้ากับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศ
แบ่งออกเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์
สิงคโปร์ และประเทศไทย ประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ
เวียดนาม อาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ทำให้ความ
ต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์
พลังงานไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน เพื่อจะได้เลือกใช้ทรัพยากรพลังงานได้อย่างเหมาะสมและสามารถ
สำรองพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในอนาคต
                      สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียน
                      จากความหลากหลายของทรัพยากรพลังงานที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศในกลุ่ม
ประเทศอาเซียน จึงทำให้แต่ละประเทศมีนโยบายและเป้าหมายทางด้านพลังงานไฟฟ้าที่แตกต่าง
กัน โดยสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศในกลุ่มอาเซียนจะแตกต่างกันขึ้นกับ
ทรัพยากรพลังงานของประเทศนั้น ๆ โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีการผลิตไฟฟ้าจาก
ก๊าซธรรมชาติมากที่สุด รองลงมา คือ ถ่านหิน พลังน้ำ น้ำมัน และพลังงานทดแทน ตามลำดับ
สำหรับสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน ปี พ.ศ. 2557 ดังภาพ

 
ตอนที่ 3 สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของโลก
                     ปัจจุบันความต้องการไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลก สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากการประเมินขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ
(International Energy Agency : IEA) ระบุว่า การใช้พลังงานของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยแหล่งพลังงานที่ใช้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน 19ที่สำคัญหากโลกมีการใช้พลังงานในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและไม่มีการค้นพบแหล่งพลังงานอื่นเพิ่มเติมได้อีก คาดว่าโลกจะมีปริมาณสำรองน้ำมันใช้ได้อีก 52.5 ปี ก๊าซธรรมชาติ 54.1 ปี และ
ถ่านหินอีกประมาณ 110 ปี เท่านั้น ดังนั้นการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานเหล่านี้จำเป็นต้อง
คำนึงถึงความสมดุลระหว่างความต้องการใช้พลังงานกับปริมาณสำรองของพลังงานที่มีเหลืออยู่
อีกทั้งจำเป็นต้องทำการศึกษาและพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ เพื่อทดแทนแหล่งพลังงานเก่าที่
กำลังจะหมดไป นอกจากนี้สิ่งที่ต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่ง คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
อันเนื่องมาจากการใช้พลังงานเหล่านี้โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
                     อัตราการเพิ่มขึ้นของกำลังผลิตไฟฟ้าในทวีปต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เป็นผล
เนื่องมาจากอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ โดยทวีปเอเชียจะมีอัตราการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
สูงสุด เนื่องจากประเทศในทวีปเอเชียส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาจึงมีความต้องการใช้
ไฟฟ้าสูง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต ในขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปซึ่งเป็นประเทศที่มี
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีและประชาชนมีการดำรงชีวิตที่สูงกว่ามาตรฐานนั้นจะมีอัตรา
การใช้พลังงานค่อนข้างคงที่