แบบทดสอบก่อนเรียน

บทที่3 วงจรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า

แบบทดสอบหลังเรียน

เรื่องที่ 2 โรงไฟฟ้ากับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้ากับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

           การก่อสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3 ด้าน คือ ด้านอากาศ ด้านน้ำ และด้านเสียง ดังนั้น โรงไฟฟ้าจึงต้องมีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมมลภาวะให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

ตอนที่ 1 ผลกระทบและการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านอากาศ

  1. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านอากาศ ผลกระทบด้านอากาศ ถือเป็นผลกระทบที่สำคัญที่สุดที่โรงไฟฟ้าต้องคำนึงถึง ทั้งนี้ความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้า ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำหรือพลังงานทดแทน จะไม่ก่อเกิดให้มลพิษ แต่ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจะก่อให้เกิดมลพิษในอากาศที่สำคัญ ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซโอโซนในระดับพื้นดิน คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่นละอองการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านอากาศโรงไฟฟ้ามีการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านอากาศ เพื่อลดก๊าซที่เป็นพิษต่อสุขภาพอนามัยและชุมชน มี 5 วิธี ดังนี้

2.1 การลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำโดยติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เรียกว่า เครื่อง FGD (Flue Gas Desulfurization) ซึ่งวิธีการนี้จะสามารถลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ ร้อยละ 80 – 90

2.2 การลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ กระบวนการที่ใช้กันแพร่หลาย และมีประสิทธิภาพสูง คือ SCR (Selective Catalytic Reduction) และเลือกใช้เตาเผาที่สามารถลดการเกิดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์

2.3 การลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ทำโดยการตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องเผาไหม้เป็นประจำ และควบคุมการเผาไหม้ให้มีปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์

2.4 การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำโดยการรวบรวมและกักเก็บก๊าซคาร์บอน-ไดออกไซด์ไว้ใต้ดินหรือน้ำ เช่น ในแหล่งน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติที่สูบออกมาหมดแล้ว หรืออาจนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม

2.5 การลดฝุ่นละออง ทำโดยการใช้อุปกรณ์กำจัดฝุ่นละออง 3 ลักษณะ คือ

1) เครื่องดักฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต โดยใช้หลักการไฟฟ้าสถิต ซึ่งระบบนี้มีประสิทธิภาพสูง

2) เครื่องแยกฝุ่นแบบลมหมุน โดยใช้หลักของแรงเหวี่ยง

3) เครื่องกรองฝุ่นแบบถุงกรองเป็นอุปกรณ์ที่มีถุงกรองเป็นตัวกรองแยกฝุ่นละอองออกจากก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าควรมีระบบตรวจวัดปริมาณสารเจือปนจากปล่องโรงไฟฟ้าแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง เป็นการตรวจติดตามและเฝ้าระวังสิ่งผิดปกติ เพื่อควบคุมคุณภาพอากาศที่ปล่อยออกจากปล่องโรงไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมและประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม อย่างเคร่งครัด เช่น ปริมาณของมลพิษเกินมาตรฐาน ควรมีการจัดเก็บข้อมูลทุกวัน และติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยทำการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

ตอนที่ 2 ผลกระทบและการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำ

  1. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านน้ำ

ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะใช้น้ำ 2 ส่วน คือ น้ำที่ใช้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงไฟฟ้าซึ่งต้องเติมสารเคมีบางอย่างลงในน้ำ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติน้ำให้เหมาะสม และน้ำหล่อเย็นที่ใช้สำหรับระบายความร้อนให้กับระบบต่าง ๆ ซึ่งน้ำหล่อเย็นนี้จะมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง เป็นต้น หากน้ำเหล่านี้ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ผ่านกระบวนการจัดการบำบัดฟื้นฟูน้ำที่ดี จะส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่

  1. การจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำ

โรงไฟฟ้าต้องมีมาตรการจัดการน้ำเสียที่มาจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า และจากอาคารสำนักงานตามลักษณะหรือประเภทของน้ำเสีย โดยคุณภาพน้ำทิ้งต้องมีการควบคุมให้ครอบคลุมทั้งเรื่องของเสียและอุณหภูมิ ดังนี้

2.1 การควบคุมอุณหภูมิของน้ำก่อนที่จะปล่อยสู่ลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยน้ำทิ้งจากท่อหล่อเย็นที่มีความขุ่นจะถูกระบายออกไปสู่บ่อพักน้ำที่ 1 และทิ้งไว้เป็นเวลาอย่างน้อย

24 ชั่วโมง เพื่อให้ตกตะกอนและลดอุณหภูมิลงเหลือประมาณ 28 – 30 องศาเซลเซียสจากนั้นจึงระบายออกสู่บ่อพักที่ 2 เพื่อปรับสภาพน้ำ ให้มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับธรรมชาติซึ่งกรมชลประทานได้กำหนดมาตรฐานไว้ที่อุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

2.2 การจัดการสารเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำโดยการกักน้ำไว้ในบ่อปรับสภาพน้ำ เพื่อบำบัดให้มีสภาพเป็นกลางและมีการตกตะกอน หรือเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค

นอกจากนี้ในโรงไฟฟ้าควรมีระบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ได้แก่ การตรวจวัดคุณภาพน้ำที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพน้ำที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาตินั้นมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของกรมชลประทาน และมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดประเภทโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม และตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

ตอนที่ 3 ผลกระทบและการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านเสียง

  1. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านเสียง

ผลกระทบด้านเสียงที่เกิดจากโรงไฟฟ้าที่สำคัญ คือ เสียงที่เกิดจากหม้อไอน้ำเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันก๊าซ และพาหนะที่เข้ามาในพื้นที่โรงไฟฟ้า

  1. การจัดการสิ่งแวดล้อมด้านเสียง

มีมาตรการควบคุมเสียงของโรงไฟฟ้าเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้

2.1 กิจกรรมที่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนชุมชนในเวลากลางคืน ต้องมีระดับเสียงไม่เกิน85 เดซิเบล ในระยะ 1 เมตรจากจุดกำเนิดเสียง ตามมาตรฐานข้อกำหนดความดังของเสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้เป็นที่รบกวนต่อผู้อยู่อาศัยโดยรอบโรงไฟฟ้า

2.2 ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมเสียงภายในโรงไฟฟ้าช่วงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ดูดซับเสียงแบบเคลื่อนที่ขณะทำความสะอาดท่อที่เครื่องกังหันไอน้ำ เพื่อควบคุมความดังของเสียงให้อยู่ในมาตรฐานไม่เกิน 85 เดซิเบล

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าควรทำการตรวจวัดเสียงอย่างสม่ำเสมอ โดยกำหนดจุดตรวจวัดเสียงทั้งภายในโรงไฟฟ้า และชุมชนรอบโรงไฟฟ้าจำนวน 3 จุด และตรวจวัดตามแผนที่กำหนดไว้ เช่น ตรวจครั้งละ 3 วันติดต่อกันทุก 3 เดือน และทำการก่อสร้างแนวป้องกันเสียงโดยการปลูกต้นไม้ (Noise Barrier) รอบพื้นที่โรงไฟฟ้า เป็นต้น