เรื่องที่ 2 การเขียนภาษาไทย

ความหมายและความสำคัญของการเขียน
การเขียน คือ การแสดงความรู้ ความคิด อารมณ์ความรู้สึกและความต้องการของผู้ส่งสารออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ผู้รับสารอ่านเข้าใจได้รับความรู้ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการต่างๆ เหล่านั้น
การเขียนเป็นพฤติกรรมของการส่งสารของมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการส่งสารด้วยการพูดและการอ่าน เพราะการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือตัวหนังสือจะคงทนถาวรและกว้างขวางกว่าการพูด และการอ่าน การที่เราได้ทราบความรู้ความคิดและวิทยาการต่างๆ ของบุคคลในยุคก่อนๆ ก็เพราะมนุษย์รู้จักการเขียนสัญลักษณ์แทนคำพูดถ่ายทอดให้เราทราบ
การเขียนเพื่อส่งสารมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนนั้นย่อมขึ้นอยู่กับผู้ส่งสารหรือผู้เขียนซึ่งจะต้องมีความสามารถในหลายด้าน ทั้งกระบวนการคิดกระบวนการเขียนความสามารถในด้านการใช้ภาษาและอื่นๆดังนี้
1. เป็นผู้มีความรู้ในเรื่องที่จะเขียนเป็นอย่างดี มีจุดประสงค์ในการถ่ายทอดเพื่อจะให้ผู้อ่านได้รับสิ่งใดและทราบพื้นฐานของผู้รับสารเป็นอย่างดีด้วย
2. สามารถเลือกรูปแบบและกลวิธีในการเขียนได้เหมาะสมกับเนื้อหาและโอกาส เช่น การเขียนคำชี้แจงก็เหมาะที่จะเขียนแบบร้อยแก้ว หากเขียนคำอวยพรในโอกาสต่างๆ อาจจะใช้การเขียนแบบร้อยกรองเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน จะเหมาะสมกว่า เป็นต้น
3. มีความสามารถในการใช้ภาษาโดยเฉพาะภาษาเขียนทั้งการเขียนคำและข้อความตามอักขรวิธี รวมทั้งการเลือกใช้ถ้อยคำสำนวนต่างๆ
4. มีความสามารถในการศึกษาค้นคว้าและการฝึกฝนทักษะการเขียน
5. มีศิลปะในการใช้ถ้อยคำได้ไพเราะเหมาะสมกับเนื้อหาหรือสารที่ต้องการถ่ายทอด

หลักการเขียนที่ดี
1. เขียนตัวหนังสือชัดเจน อ่านง่าย เป็นระเบียบ
2. เขียนได้ถูกต้องตามอักขรวิธี สะกดการันต์ วรรณยุกต์ วางรูปเครื่องหมายต่างๆ เว้นวรรคตอนได้ถูกต้อง เพื่อจะสื่อความหมายได้ตรงและชัดเจน ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสารได้ดี
3. เลือกใช้ถ้อยคำได้เหมาะสม สื่อความหมายได้ดี กะทัดรัด ชัดเจนเหมาะสมกับเนื้อหา เพศ วัย และระดับของผู้อ่าน
4. เลือกใช้สำนวนภาษาได้ไพเราะ เหมาะสมกับความรู้ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ที่ต้องการถ่ายทอด