เรื่องที่ 3 การอ่านร้อยกรอง

การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว
คือ การอ่านบทประพันธ์ร้อยแก้วแบบออกเสียง โดยแบ่งวรรคตอนให้เหมาะสม ใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวที่ได้ฟัง

หลักเกณฑ์การอ่านบทร้อยแก้ว
1. อ่านเพื่อเตรียมตัวก่อนการอ่านจริง เพื่อให้เข้าใจเนื้อหา ทำการแบ่งวรรคตอนไว้ก่อน
2. อ่านให้คล่องแคล่ว ไม่ติดขัด ถูกต้องตามอักขระวิธี ตัว ร ล ควบกล้ำ ต้องถูกต้อง ชัดเจน เสียงดังฟังชัด แต่ไม่ถึงกับตะโกน
3. ใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับเรื่องราวที่อ่าน เช่นเนื้อหาเป็นเรื่องเศร้าโศกก็ต้องใช้เสียงที่ฟังดูอ่อนโยน เศร้าสร้อยตามเนื้อหา ถ้าเรื่องที่เล่าเป็นเรื่องสนุกสนานก็ใช้น้ำเสียงสดใสมีชีวิตชีวา ฟังดูน่าตื่นเต้น เป็นต้น
4. เหลือบตามองดูผู้ฟังบ้าง ไม่ก้มหน้าอ่านอย่างเดียว
5. ระวังท่าทางในการยืนหรือการนั่ง บุคลิกภาพต้องดี ดูสุภาพ สำรวม

การอ่านออกเสียงร้อยกรอง (ทำนองเสนาะ)
การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง คือ การอ่านบทกวีแบบออกเสียงตามจังหวะและลีลาของบทร้อยกรองแต่ละประเภท สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การอ่านออกเสียงตามปกติ เพียงแต่แบ่งจังหวะตามวรรคตอนของบทประพันธ์เท่านั้น
2. การอ่านแบบทำนองเสนาะ ซึ่งมีการใช้เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงหนัก เสียงเบา เสียงยาว เสียงสั้น และการเอื้อน ซึ่งจะบังเกิดความไพเราะคล้ายเสียงดนตรี

หลักในการอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง
1. อ่านให้ถูกต้องตามลักษณะบังคับของคำประพันธ์ ศึกษาการแบ่งวรรคตอน จำนวนคำ เสียงวรรณยุกต์ เสียงหนักเบา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคำประพันธ์แต่ละประเภท
2. อ่านให้มีลีลา รู้จักใช้เสียงเอื้อนและรู้จักทอดจังหวะให้เกิดความไพเราะ

การอ่านคำประพันธ์ประเภทโคลง
โคลงที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือโคลงสี่สุภาพ ซึ่งมีวิธีการอ่านดังนี้
1. อ่านทอดเสียงให้ตรงตามจังหวะของแต่ละวรรค วรรคหน้าของแต่ละบาทมี 2 จังหวะ จังหวะละ 2 คำ และ 3 คำ
2. คำท้ายวรรคที่ใช้เสียงจัตวา ต้องเอื้อนเสียงให้สูงเป็นพิเศษ
3. เอื้อนวรรคหลังของบาทที่ 2 ให้เสียงต่ำกว่าปกติ
4. ในกรณีที่มีคำมากพยางค์เกินแผนบังคับต้องรวบเสียงคำนั้นๆ ให้สั้นเข้า