เรื่องที่ 2 ความหมายและหน้าที่ของคํา กลุ่มคํา และประโยค

           คำ หมายถึง เสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมาย อาจจะเปล่งเพียงครั้งเดียวเรียกว่าคำพยางค์เดียว เช่น ฉัน คุณ เธอ แม่ พี่ ฯลฯ หรือเปล่งออกมาหลายครั้งเรียกว่าคำหลายพยางค์ เช่น แสดง วิชา อัธยาศัย ฯลฯ คำเป็นสารที่ผู้พูดหรือผู้เขียนเจตนาหรือตั้งใจสื่อไปยังผู้ฟังหรือผู้อ่าน คำทุกคำจึงมีความหมายทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะมีความหมายนัยตรง(โดยตรง) และคำที่มีความหมายโดยนัย(เชิงเปรียบเทียบ หรือ นัยประหวัด)

1. คำที่มีความหมายนัยตรง(โดยตรง) หมายถึง คำที่มีความหมายอันเป็นคุณสมบัติประจำของคำ ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยว่าผู้พูดเป็นใคร และ ผู้ฟังเป็นใคร
2. คำที่มีความหมายโดยนัย หมายถึง คำที่มีความหมายไม่ตรงตามความหมายโดยตรงหรือความหมายประจำรูป แต่มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง

กลุ่มคำและประโยค
ความหมายของกลุ่มคำ
        กลุ่มคำ คือ ข้อความที่เกิดจากการนำคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปมาเรียงติดต่อกัน ทำให้เกิดความหมายเพิ่มขึ้นตามความหมายของคำเดิมที่นำมารวมกัน แต่เป็นความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ยังไม่สมบูรณ์เป็นประโยค และไม่เกิดเป็นคำใหม่ชนิดใดชนิดหนึ่ง คือ คำประสม คำซ้อน คำซ้ำ คำสมาส หรือคำสนธิ

ชนิดของกลุ่มคำ
         วลีหรือกลุ่มคำในภาษาไทยจำแนกได้เป็น 7 ชนิด ตามชนิดของคำที่ปรากฏในตำแหน่งต้นของวลี ดังนี้
1. นามวลี เช่น นกขุนทอง ผ้าทอพื้นบ้าน หนองขาว พนักงานโรงงานผลิตหน่อไม้กระป๋อง
2. สรรพนามวลี เช่น เราทุกคน ท่านคณะกรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏ- กาญจนบุรี ข้าเบื้องยุคลบาท
3. กริยาวลี เช่น โต้แย้งทุ่มเถียง เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า อิดหนาระอาใจกำลังโค้งคารวะ
4. วิเศษณ์วลี เช่น ก้องกังวาน ที่ใช้ขยายคำนามในคำว่า เสียงก้องกังวาน สุดที่จะพรรณนา ขยายคำกริยาว่า สวย ในคำว่า สวยสุดที่จะพรรณนา
5. บุพบทวลี เช่น ท่ามกลางฝูงชน จากคนบ้านไกล ตามคำสั่งสอน
6. สันธานวลี เช่น ถึงอย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ ถ้าหากว่า
7. อุทานวลี เช่น พุทโธ่เอ๋ย! ตาเถรตกน้ำ! อกอีแป้นแตก!

หน้าที่ของกลุ่มคำ
กลุ่มคำที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในประโยคเช่นเดียวกับคำชนิดต่างๆ ดังนี้
1. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำนาม
– สภาพเศรษฐกิจของพม่าตกอยู่ในฐานะลำบากมาก (เป็นประธาน)
– แนวปะการังนั้นเป็นแหล่งที่น่าสนใจศึกษา (เป็นประธาน)

2. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนสรรพนาม
ท่านให้เกียรติแก่พวกเราทุกคน (เป็นกรรม)
คณะนักกีฬาเหล่านั้นจะออกเดินทางวันนี้ (เป็นประธาน)

3. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำกริยา
– เขากำลังนอนหลับปุ๋ยอย่างสบายบนเตียงนอน (เป็นตัวแสดง)
– เด็กน้อยนั่งเขย่าตัวไปตามจังหวะเพลง (เป็นตัวแสดง)

4. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำบุพบท
– เขานอนอ่านหนังสืออยู่แถวๆข้างหลังบ้าน ( เชื่อมคำกริยากับนาม)
– เขากันเงินส่วนหนึ่งสำหรับเพื่อหาเสียง ( เชื่อมกลุ่มคำนามกับคำกริยา)

5. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำวิเศษณ์
หล่อนเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคงเข้มแข็งมาก ( เป็นตัวขยายนาม)
หลายต่อหลายครั้งที่เขาทำให้เราผิดหวัง (เป็นตัวขยายกริยา)

6. เป็นกลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำสันธาน
– เขายังอดทนสู้ต่อไป ถึงแม้ว่ากำลังเขาจะถดถอยลงไปทุกวัน( เชื่อมประโยคกับประโยค)
– น้ำในเขื่อนลดลงไปมาก เพราะฉะนั้นจึงควยช่วยกันประหยัดน้ำ (เชื่อมประโยคกับประโยค)

7. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำอุทาน
– อะไรกันนักกันหนา! จะเก็บเงินอีกแล้วหรือนี่
– โอ๊ยตายแล้ว! ลืมปิดแก๊ส

ประโยค คือ ถ้อยคำที่มีความเกี่ยวข้องกันถูกต้องตามระเบียบของภาษาและมีเนื้อความบริบูรณ์ ประกอบด้วยภาคประธานและภาคแสดง