เรื่องที่ 5 การเขียนตามรูปแบบ

การเขียนรูปแบบต่างๆ
รูปแบบการเขียน งานเขียนในภาษาไทยมี 2 รูปแบบคือ งานเขียนประเภท ร้อยกรองกับงานเขียนประเภทร้อยแก้ว ซึ่งผู้เรียนได้เคยศึกษามาบ้างแล้วในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในที่นี้จะพูดถึงงานเขียนประเภทร้อยแก้วที่ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเขียนจดหมาย การเขียนเรียงความ การเขียนย่อความ การจดบันทึกและการเขียนแสดงความคิดเห็น และงานเขียนประเภทร้อยกรองบางประเภทเท่านั้น
การเขียนจดหมาย
การเขียนจดหมายเป็นวิธีการที่นิยมใช้เพื่อการสื่อสารแทนการพูด เมื่อผู้ส่งสารและผู้รับสารอยู่ห่างไกลกัน เพราะประหยัดค่าใช้จ่าย มีลายลักษณ์อักษรเป็นหลักฐานส่งถึงกันได้สะดวกทุกพื้นที่ จดหมายที่เขียนติดต่อกันมีหลายประเภทเป็นต้นว่า
จดหมายส่วนตัว เป็นจดหมายที่เขียนถึงกันระหว่างญาติมิตร หรือครูอาจารย์ เพื่อส่งข่าวคราว บอกกล่าวไต่ถามถึงความทุกข์สุข แสดงถึงความรัก ความปรารถนาดี ความระลึกถึงต่อกัน รวมทั้งการเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ที่สำคัญ การขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำซึ่งกันและกัน
จดหมายกิจธุระ เป็นจดหมายที่บุคคลเขียนติดต่อกับบุคคลอื่น บริษัท ห้างร้านและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแจ้งกิจธุระ เป็นต้นว่า การนัดหมายขอสมัครงาน ขอความช่วยเหลือและขอคำปรึกษาเพื่อประโยชน์ในด้านการงานต่างๆ
จดหมายธุรกิจ เป็นจดหมายที่เขียนติดต่อกันในเรื่องธุรกิจ และการเงินระหว่างบริษัท ห้างร้านและองค์การต่างๆ
จดหมายราชการหรือหนังสือราชการ เป็นจดหมายที่ติดต่อกันเป็นทางราชการจากส่วนราชการหนึ่งถึงอีกส่วนราการหนึ่งข้อความในหนังสือถือว่าเป็นหลักฐานทางราชการและมีสภาพผูกมัดถาวรในราชการ จดหมายราชการจะมีเลขที่ของหนังสือมีการลงทะเบียนรับ-ส่ง ตามระเบียบของงานสารบรรณ
การเขียนจดหมายแต่ละประเภทจะมีลักษณะแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปจะมีแนวโน้มในการเขียนดังนี้
1. ส่วนประกอบของจดหมายที่สำคัญคือ ที่อยู่ของเจ้าของจดหมาย วัน เดือน ปีที่เขียนข้อความ ที่ต้องการสื่อสาร คำขึ้นต้น และคำลงท้าย
2. ใช้ภาษาที่สื่อความหมายตรง ชัดเจน สั้น กะทัดรัดได้ใจความ เพื่อให้ผู้รับจดหมายได้ทราบอย่างรวดเร็ว การเขียนแบบนี้มักใช้ในการเขียนจดหมาย กิจธุระ จดหมายธุรกิจ และจดหมายราชการ
3. ใช้ถ้อยคำภาษาในเชิงสร้างสรรค์ เลือกเฟ้นถ้อยคำให้น่าอ่าน ระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำ การเขียนลักษณะนี้เป็นการเขียนจดหมายส่วนตัว
4. จดหมายที่เขียนติดต่อเป็นทางการต้องศึกษาว่าควรจะส่งถึงใคร ตำแหน่งอะไร เขียนชื่อ ชื่อสกุล ยศ ตำแหน่ง ให้ถูกต้อง
5. ใช้คำขึ้นต้นและคำลงท้ายให้เหมาะสมกับผู้รับตามธรรมเนียม
6. กระดาษและซองเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของจดหมาย ถ้าเป็นจดหมายที่ส่งทางไปรษณีย์ จะต้องเขียนนามผู้ส่งไว้มุมซองบนด้านซ้ายมือ พร้อมที่อยู่และรหัสไปรษณีย์ การจ่าหน้าซองให้เขียนหรือพิมพ์ชื่อที่อยู่ของผู้รับให้ชัดเจนและอย่าลืมใส่รหัสไปรษณีย์ด้วย ส่วนดวงตราไปรษณีย์ให้ปิดไว้มุมบนขวามือ ค่าไปรษณียากรต้องให้ถูกต้องตามกำหนด
การเขียนเรียงความ
การเขียนเรียงความเป็นรูปแบบการเขียนอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้ศิลปะในการเรียบเรียงถ้อยคำภาษาให้เป็นเนื้อเรื่อง เพื่อถ่ายทอดข้อเท็จจริง ความรู้ ความรู้สึก จินตนาการและความเข้าใจด้วยภาษาที่ถูกต้องสละสลวยการจะเขียนเรียงความได้ดีผู้เขียนจะต้องศึกษารูปแบบ กฏเกณฑ์ให้เข้าใจและฝึกเขียนเป็นประจำ
การเขียนเรียงความ มีส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ความนำหรือคำนำ
ความนำเป็นส่วนแรกของการเขียนเรียงความ ซึ่งผู้รู้ได้แนะนำให้เขียนหลังจากเขียนส่วนอื่นๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะไม่ซ้ำกับข้อความลงท้ายหรือสรุป ความนำของการเขียนเรียงความจะทำหน้าที่ดังนี้
1. กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสนใจต่อเนื่องของเรื่องนั้นๆ
2. ปูพื้นฐานความเข้าใจให้กับผู้อ่าน หรือชี้ให้เห็นความสำคัญของเรื่องก่อนที่จะอ่านต่อไป
3. บอกขอบข่ายเนื้อเรื่องนั้นๆ ว่ามีขอบข่่ายอย่างไร

ส่วน 2 เนื้อเรื่องหรือตัวเรื่อง
การเขียนเนื้อเรื่อง ผู้เรียนจะต้องดูหัวข้อเรื่องที่จะ เขียนแล้วพิจารณาว่าเป็นเรื่องลักษณะใด ควรตั้งวัตถุประสงค์ของการเขียนเรียงความอย่างไร เพื่อให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่านเพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้อ่านเชื่อหรือคล้อยตาม เพื่อให้ความบันเทิงหรือเพื่อส่งเสริมให้ผู้อ่านใช้ความคิดของตนให้กว้างขวางขึ้น เมื่อได้จุดประสงค์ในการเขียน ผู้เรียนจะสามารถกำหนดขอบข่ายของหัวข้อเรื่องที่จะเขียนได้
ส่วนที่ 3 บทสรุปหรือความลงท้าย
การเขียนบทสรุปหรือความลงท้าย ผู้รู้ได้แนะนำให้เขียนหลังจากเขียนโครงเรื่องเสร็จแล้วเพราะความลงท้ายจะทำหน้าที่ย้ำความสำคัญของเรื่อง ช่วยให้ผู้อ่านจดจำสาระสำคัญในเรื่องนี้ได้ หรือช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจจุดประสงค์ของผู้เขียนอีกด้วย วิธีการเขียนความลงท้ายอาจทำได้ดังนี้
1. สรุปความทั้งหมดที่นำเสนอในเรื่อง ให้ได้สาระสำคัญอย่างชัดเจน
2. นำเรื่องที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในเนื้อเรื่องมากล่าวย้ำตามจุดประสงค์ของเรื่อง
3. เลือกคำกล่าวที่น่าเชื่อถือ สุภาษิต คำคมที่สอดคล้องกับเรื่องมาเป็นความลงท้าย
4. ฝากข้อคิดและแนวปฏิบัติให้กับผู้อ่าน เพื่อนำไปพิจารณาและปฏิบัติ
5. เสนอแนวคิดหรือข้อใคร่ครวญลักษณะปลายเปิดให้ผู้อ่านนำไปคิดและใคร่ครวญต่อ
ลักษณะของเรียงความที่ดี ควรมีลักษณะที่เป็นเอกภาพ สัมพันธภาพ และสารัตถภาพ
เอกภาพ คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเรื่องไม่เขียนนอกเรื่อง
สัมพันธภาพ คือ มีความสัมพันธ์กันตลอดเรื่อง หมายถึงข้อความแต่ละข้อความหรือแต่ละย่อหน้าจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันโดยตลอด
สารัตถภาพ คือ การเน้นสาระสำคัญของย่อหน้าแต่ละย่อหน้าและของเรื่องทั้งหมดโดยใช้ถ้อยคำ ประโยค ข้อความที่กระชับ ชัดเจน สื่อความเรื่องทั้งหมดได้เป็นอย่างดียิ่ง
การเขียนย่อความ
การย่อความ คือการนำเรื่องราวต่างๆ มาเขียนใหม่ด้วยสำนวนภาษาของผู้ย่อเอง เมื่อเขียนแล้วเนื้อความเดิมจะสั้นลง แต่ยังมีใจความสำคัญครบถ้วนสมบูรณ์ การย่อความนี้ ไม่มีขอบเขตว่าควรจะสั้นหรือยาวเท่าใดจึงจะเหมาะ เพราะบางเรื่องมีพลความมากก็ย่อลงไปได้มาก แต่บางเรื่องมีใจความสำคัญมาก ก็อาจย่อได้ 1 ใน 2 หรือ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของเรื่องเดิมตามแต่ผู้ย่อจะเห็นสมควร
ใจความสำคัญ คือ ข้อความสำคัญในการพูดหรือการเขียน พลความ คือข้อความที่เป็นรายละเอียดนำมาขยายใจความสำคัญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าตัดออกผู้ฟังหรือผู้อ่านก็ยังเข้าใจเรื่องนั้นได้

หลักการย่อความ จากสิ่งที่ได้อ่าน ได้ฟัง
1. อ่านเนื้อเรื่องที่จะย่อให้เข้าใจ อาจมากกว่า 1 เที่ยวก็ได้
2. เมื่อเข้าใจเรื่องดีแล้ว จึงจับใจความสำคัญทีละย่อหน้าเพราะ 1 ย่อหน้าจะมีใจความสำคัญอย่างเดียว
3. นำใจความสำคัญแต่ละย่อหน้า มาเขียนใหม่ด้วยภาษาของตนเอง โดยคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
3.1 ไม่ใช้อักษรย่อในข้อความที่ย่อ
3.2 ถ้ามีคำราชาศัพท์ในเรื่องให้คงไว้ไม่ต้องแปลออกเป็นคำสามัญ
3.3 จะไม่ใช้เครื่องหมายต่างๆ ในข้อความที่ย่อ เช่น อัญประกาศ
3.4 เนื้อเรื่องที่ย่อแล้ว โดยปกติเขียนติดต่อกันในย่อหน้าเดียวและควรมีความยาวประมาณ 1 ใน 4 ของเรื่องเดิม
4. คำนำในการอ่านย่อความ ให้ใช้แบบคำนำย่อความ ตามประเภทของเรื่องที่จะย่อโดยเขียนคำนำไว้ย่อหน้าแรก แล้วจึงเขียนข้อความที่ย่อในย่อหน้าต่อไป
การเขียนบันทึก
การเขียนบันทึกเป็นวิธีการเรียนรู้และจดจำที่ดี นอกจากนี้ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ยังสามารถนำไปเป็นหลักฐานอ้างอิงเพื่อประโยชน์อื่นต่อไป เช่น
การจดบันทึกจาการฟัง
การบันทึกจากการฟังหรือการประสบพบเห็นด้วยตนเอง ย่อมก่อให้เกิดความรู้ ในที่นี้ใคร่ขอแนะนำวิธีจดบันทึกจากการฟังและจากประสบการณ์ตรง เพื่อผู้เรียนจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาด้วยตนเองได้วิธีหนึ่ง
วิธีจดบันทึกจาการฟัง
การจดบันทึกจาการฟังจะได้ผลดีเพียงใดขึ้นอยู่กับสมรรถภาพในการฟังของผู้จดบันทึกในขณะที่ฟังอยู่นั้น เราไม่สามารถจดจำคำพูดได้ทุกคำ ดังนั้นวิธีจดบันทึกจากการฟังจึงจำเป็นต้องรู้จักเลือกจดเฉพาะประเด็นสำคัญ ใช้หลักการอย่างเดียวกับการย่อความนั่นเอง กล่าวคือต้องสามารถแยกใจความสำคัญออกจากพลความได้ ข้อความตอนใดที่ไม่สำคัญหรือไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรงก็ไม่จำเป็นต้องจดและวิธีการจดอาจใช้อักษรย่อหรือเครื่องหมายที่ใช้กันทั่วไปเพื่อบันทึกไว้ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ร.ร. แทน โรงเรียน