เรื่องที่ 2 ภาษาไทยกับช่องทางการประกอบอาชีพ

            ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสาร (ผู้พูด ผู้เขียน) กับผู้รับสาร (ผู้ฟัง ดู ผู้อ่าน) ที่มนุษย์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่เริ่มหัดพูด เพื่อสื่อสารกับพ่อแม่ พี่น้อง บุคคลใกล้เคียง ต่อมาเมื่ออยู่ในวัยเรียน เริ่มเข้าสู่ระบบโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ผู้เรียนในวัยนี้เริ่มใช้ภาษาที่มีระบบระเบียบ มีหลักเกณฑ์การใช้ภาษาที่สลับซับซ้อน ยากง่าย ตามระดับการศึกษา ซึ่งสิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทยนี้ จะเป็นการปูพื้นฐานความรู้ให้ผู้เรียน มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดความซาบซึ้งและ มีความคิดสร้างสรรค์ของงานที่เกิดจากการเรียนภาษาไทย เช่น มีผู้เรียนที่เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา แต่เป็น ผู้ใฝ่รู้ รักการอ่าน รักการจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เริ่มจดบันทึกจากสิ่งที่ใกล้ตัว คือ การจดบันทึกกิจวัตรประจำวัน จดบันทึกเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเห็นในแต่ละวัน เช่น พบเห็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร พบเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเมื่อประสบภัยน้ำท่วม ฯลฯ โดยผู้เรียนคนนี้ปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำทุก ๆ วัน เมื่อผู้เรียนคนนี้เป็นคนที่ชอบเขียน ชอบบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ และแทนที่ผู้เรียนคนนี้จะ จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ และเก็บไว้เป็นข้อมูลส่วนตัวเท่านั้น แต่ผู้เรียนคนนี้ จะนำเรื่องราวที่บันทึกไว้เผยแพร่ในเว็บไซต์ เป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเห็นมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ บังเอิญมีสำนักพิมพ์ที่ได้อ่านผลงานเขียนของผู้เรียนคนนี้ เกิดความ พึงพอใจ และขออนุญาตนำไปจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มและจัดจำหน่าย โดยผู้เรียนจะได้รับค่าตอบแทนในการเขียนด้วย

            อีกกรณีหนึ่ง ผู้เรียนคนหนึ่งเป็นนักพูด เวลาโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมหรือมีการจัดงานใด ๆ ก็ตาม ผู้เรียนคนนี้จะอาสาคอยช่วยเหลือโรงเรียนโดยเป็นผู้ประกาศบ้าง ผู้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ บ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานให้ผู้เรียนคนนี้ ได้เรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น โดยอาจจะเป็นผู้ทำหน้าที่พิธีกร เป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็น นักพากย์การ์ตูน ฯลฯ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้
ฉะนั้น จากตัวอย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ภาษาไทย ก็สามารถนำความรู้
ที่ได้รับไปสร้างงาน สร้างอาชีพเลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัวได้ เช่นเดียวกับการเรียนรู้ในสาระวิชาความรู้อื่น ๆ ก่อนที่ผู้เรียน กศน. จะตัดสินใจใช้ความรู้ภาษาไทยไปประกอบอาชีพ ผู้เรียนจะต้องวิเคราะห์ศักยภาพตนเองก่อนว่าผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาภาษาไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฟัง การดู การพูด การอ่าน การเขียน หลักการใช้ภาษา วรรณคดีและวรรณกรรม ลึกซึ้งถูกต้องหรือยัง หากวิเคราะห์แล้วคิดว่าผู้เรียนยังไม่แม่นยำในเนื้อหาความรู้วิชาภาษาไทยก็จะต้องกลับไปทบทวนให้เข้าใจ จากนั้น จึงวิเคราะห์ตนเองว่ามีใจรักหรือชอบที่จะเป็นนักพูดหรือนักเขียน ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับการฟัง การดู การอ่าน หลักการใช้ภาษาและวรรณคดีและวรรณกรรมเป็นข้อมูลความรู้ประกอบในการเป็นนักพูดที่ดี หรือนักเขียนที่ดีได้
            ต่อไปนี้จะขอนำเสนอข้อมูลและตัวอย่างของการประกอบอาชีพนักพูด และนักเขียนพอสังเขป ดังนี้

การประกอบอาชีพนักพูด
            ผู้เรียนที่ได้วิเคราะห์ศักยภาพตนเองแล้วว่าเป็นผู้ที่มีความสนใจและรักที่จะเป็นนักพูด จะต้องเป็น ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถหรือคุณสมบัติอย่างไรบ้าง โดยขอนำเสนอข้อมูลพอเป็นสังเขปได้ ดังนี้
ก. นักจัดรายการวิทยุ
             ผู้เรียนที่สนใจจะเป็นนักจัดรายการวิทยุ เริ่มแรกผู้เรียนอาจจะเป็นนักจัดรายการวิทยุระดับชุมชน เสียงตามสาย ฯลฯ จนผู้เรียนมีทักษะประสบการณ์มากขึ้น จึงจะเป็นนักจัดรายการวิทยุระดับจังหวัด หรือระดับประเทศต่อไป
หน้าที่ของนักจัดรายการวิทยุ แบ่งได้ 4 ประการ คือ
1. เพื่อบอกกล่าว เป็นการรายงาน ถ่ายทอดสิ่งที่ได้ประสบ พบเห็นให้ผู้ฟังได้รับรู้ อย่างตรงไปตรงมา
2. เพื่อโน้มน้าวใจ เป็นการพยายามที่จะทำให้ผู้ฟังมีความเห็นคล้อยตาม หรือโต้แย้ง
3. เพื่อให้ความรู้ เป็นความพยายามที่จะให้ผู้ฟังเกิดความพึงพอใจ มีความสุขใจ
ลักษณะของนักจัดรายการวิทยุ (รู้จักตนเอง) มีดังนี้
1. เป็นผู้มีจิตใจใฝ่รู้
2. ว่องไวต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
3. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
4. มีจิตใจกว้างขวาง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
5. มีความอดทนต่อแรงกดดันต่าง ๆ
ข. พิธีกร – ผู้ประกาศ
            ในการทำหน้าที่พิธีกร หรือผู้ประกาศ การใช้เสียงและภาษาจะต้องถูกต้อง ชัดเจน เช่น การออกเสียงตัว ร ล การอ่านเว้นวรรคตอน การออกเสียงควบกล้ำ การออกเสียงสูง ต่ำ นอกจากจะต้องมีความรู้ในเรื่องของภาษาแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่พิธีกร – ผู้ประกาศ จะต้องพัฒนาบุคลิกภาพ การแต่งหน้า ตลอดจนเรียนรู้การทำงานของพิธีกร – ผู้ประกาศอย่างชัดเจนด้วย
คุณลักษณะของผู้ทำหน้าที่พิธีกร – ผู้ประกาศ มีดังนี้
1. บุคลิกภาพภายนอกต้องดูดี มีความโดดเด่น ดูน่าประทับใจ มีลักษณะที่เป็นมิตร เนื่องจากการเป็นพิธีกร – ผู้ประกาศ จะต้องพบปะกับผู้คนหรือผู้ฟัง
2. น้ำเสียงนุ่มนวล น่าฟัง การใช้น้ำเสียงเป็นสิ่งสำคัญ การใช้อักขระจะต้องถูกต้อง ออกเสียงดังฟังชัด การเว้นวรรคตอน คำควบกล้ำ จะต้องสม่ำเสมอ น้ำเสียงน่าฟัง ไม่แข็งกระด้าง เวลาพูดหรืออ่านข่าว ควรมีสีหน้ายิ้มแย้มและน้ำเสียงที่ชวนฟังเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกสบายเมื่อได้ฟัง
3. ภาพลักษณ์ที่ดี ควรเป็นตัวอย่างที่ดีน่าเชื่อถือ สำหรับผู้ฟังหรือผู้ชม การปรากฎตัวในงานต่าง ๆ ควรมีการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ
4. ความรู้รอบตัว ผู้ที่จะทำหน้าที่พิธีกร – ผู้ประกาศจะต้องเป็นผู้ที่สนใจใฝ่รู้เรื่องราว ข่าวสารข้อมูลที่ทันสมัย เกาะติดสถานการณ์ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง กับใคร ที่ไหน ที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่พร้อมจะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ อยู่เสมอ รู้จักวิเคราะห์ข่าวสารที่ได้รับฟังมาให้เข้าใจก่อนที่จะเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รับรู้
5. ตรงต่อเวลา การตรงต่อเวลาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากทั้งผู้ที่ทำหน้าที่พิธีกร – ผู้ประกาศ จะต้องมีเวลาให้ทีมงานได้ให้ข้อมูล อธิบายประเด็นเนื้อหาสาระ กระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ถ้าไม่พร้อม หลังพลาดพลั้งไป ทีมงานคนอื่น ๆ จะเดือดร้อนและเสียหายตามไปด้วย
6. รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเป็นพิธีกร – ผู้ประกาศ ถึงแม้ว่าจะมีการเตรียม ความพร้อมที่เรียบร้อยดีแล้ว แต่เหตุการณ์เฉพาะหน้าบางครั้งอาจจะเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่ได้คาดหมายไว้ พิธีกร – ผู้ประกาศ จะต้องมีปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
ค. ครูสอนภาษาไทยกับประชาคมอาเซียน
ภายในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ฉะนั้น ประชาชนคนไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม หรือปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ประโยชน์ที่จะได้รับ
1. ประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้เพิ่มศักยภาพในการบริโภค เพิ่มอำนาจการต่อรองในระดับโลก
2. การผลิต (ยิ่งผลิตมาก ยิ่งต้นทุนต่ำ)
3. มีแรงดึงดูดเงินลงทุนที่อยู่นอกอาเซียนสูงขึ้น
สิ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ
1. การศึกษาในภาพใหญ่ของโลก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
2. บุคลากรและนักศึกษา ต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารได้
3. ปรับปรุงความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ เพื่อลดข้อขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียน
4. สร้างบัณฑิตให้สามารถแข่งขันได้ในอาเซียน เพิ่มโอกาสในการทำงาน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ประชาชนอาเซียนจะเดินทางเข้าออกประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้า พ่อค้า นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว ฯลฯ ฉะนั้น เราในฐานะเจ้าของประเทศ เจ้าของภาษาไทย ทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนอาเซียนที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยได้เรียนรู้ภาษาไทย วัฒนธรรมไทย เพื่อเป็นพื้นฐานในการสื่อสารที่เข้าใจกัน ในที่นี้จึงขอเสนออาชีพ ที่ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว สามารถประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเอง นั่นก็คือ ครูสอนภาษาไทยให้กับประชาชนอาเซียน ภาษาไทยที่สอนนี้เป็นภาษาไทยพื้นฐาน ที่ประชาชนอาเซียนเรียนรู้แล้ว สามารถสื่อสารกับคนไทยแล้วเข้าใจ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ เช่น พ่อค้า แม่ค้า นักท่องเที่ยว ฯลฯ
คุณลักษณะของครูผู้สอนภาษาไทยกับประชาชนอาเซียน
1. มั่นใจในความรู้ภาษาไทยดีพอ
2. มีใจรักในการถ่ายทอดความรู้
3. เป็นผู้มีความรู้ในภาษาอาเซียน อย่างน้อย 1 ภาษา
เนื้อหาความรู้ภาษาไทยที่ประชาชนอาเซียนควรเรียนรู้
1. ทักษะการฟัง การดู การพูด
2. หลักการใช้ภาษา ระดับพื้นฐาน ได้แก่ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์
3. ทักษะการอ่าน
4. ทักษะการเขียน
5. ทักษะการอ่าน เขียนเลขไทย อารบิค
การจัดกลุ่มผู้เรียน
1. แสวงหากลุ่มผู้เรียน ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป (จำนวนขึ้นอยู่กับศักยภาพของครูผู้สอน)
2. กำหนดแผนการสอน (วัน เวลา/สถานที่นัดพบ)
3. เตรียมเนื้อหา สาระ สื่ออุปกรณ์การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
4. มีการวัดและประเมินผลความก้าวหน้าของผู้เรียน