เรื่องที่ 3 การพูดในโอกาสต่างๆ

ประเภทของการกล่าวในโอกาสต่าง ๆ
มีดังนี้ คือ
        < การกล่าวแนะนำผู้พูด
        < การกล่าวขอบคุณผู้พูด
        < การกล่าวต้อนรับ และการกล่าวตอบการต้อนรับ
        < การกล่าวคำอวยพร และการกล่าวตอบคำอวยพร
        < การกล่าวเปิดงานพิธี การประชุมสัมมนา และอบรม
        < การกล่าวคำสดุดีบุคคล
        < การกล่าวถวายพระพร
        < การกล่าวสุนทรพจน์
        < การกล่าวคำปราศรัย
        < การกล่าวให้โอวาท
        < การกล่าวคำอำลา
        < การกล่าวคำไว้อาลัย
หลักการพูดในโอกาสต่าง ๆ
       จันทิมา พรหมโชติกุล ( 2530 ) กล่าวถึงหลักการพูดในโอกาสพิเศษ ว่ามีหลักการปฏิบัติดังนี้ คือ
1. ควรวิเคราะห์ลักษณะของโอกาส หรือบุคคลที่จะกล่าวถึงให้ชัดเจน
             สมิต สัชฌุกร ( 2521 ) กล่าวไว้ว่า การวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของโอกาสหรือบุคคลนั้น ควรพิจารณาว่า การที่บุคคลต่าง ๆ มาชุมนุมกันนั้นเป็นโอกาสใด และเพื่ออะไร ผู้พูดจะได้พยายามคิดค้นหาคำพูดที่แสดงลักษณะเฉพาะของโอกาสหรือบุคคลที่เราจะกล่าวถึงได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์นั้น ๆ
2. ผู้ฟังและสถานการณ์การพูดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้พูดจะต้องรู้จักและเข้าใจ
             วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ( 2540 )กล่าวไว้ว่า ผู้พูดจะต้องเข้าใจผู้ฟังและเข้าใจสถานการณ์การพูด เพราะในบางครั้งอาจจะต้องมีการยืดหยุ่น พลิกแพลง ดัดแปลงเนื้อหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผู้ฟัง เช่นในกรณีที่ลำดับรายการของงานทั้งหมดนั้นล่าช้า ผู้พูดก็ต้องตัดทอนการพูดของตนเองให้สั้นลงด้วย หรือในกรณีที่ผู้ฟังกำลังสนใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษอยู่ เช่น มีบุคคลสำคัญเดินเข้ามาในงานและผู้ฟังต่างพากันหันไปมอง ผู้พูดก็ควรกระชับการพุดให้สั้นลง ไม่ใช่พูดต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจอะไรเลย
3. เตรียมคำขึ้นต้นและลงท้ายให้ดีที่สุดเอาไว้ล่วงหน้า
              สมิต สัชฌุกร ( 2521 ) กล่าวไว้ว่า การพูดในโอกาสพิเศษนั้น ควรเริ่ม
เรื่องและสรุปจบในแบบพิเศษ เช่น เลือกใช้บทกวี คำประพันธ์ หรือเลือกใช้คำขึ้นต้นดูมีลีลา มีความไพเราะ คมคายแฝงอยู่ และต้องมีลักษณะเฉพาะที่เหมาะสมกับแต่ละความมุ่งหมายของการพูดนั้น ๆ ในการเริ่มเรื่องไม่ควรทำลายความเชื่อถือของผู้ฟังด้วยการพูดออกตัวหรือถ่อมตน และไม่ควรลงท้ายด้วยการขอบคุณผู้ฟัง แต่ควรใช้คำพูดที่มีความหมาย ลึกซึ้งกินใจจะดีกว่า
4. ควรพูดให้รวบรัดและใช้เวลาให้เหมาะสม ไม่ควรพูดนานหรือสั้นจนเกินไปควรพูดให้อยู่ในช่วงเวลาที่กำหนด
5. เมื่อมีโอกาสควรแทรกอารมณ์ขันบ้าง แต่ต้องพิจารณาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับโอกาสที่จะพูด